วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สำนวนไทย

สำนวนไทย คือ ถ้อยคําหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายไม่ตรงตามตัวหรือมีความหมายอื่นแฝงอยู่[ สันนิษฐานว่า สำนวนนั้นมีอยู่ในภาษาพูดก่อนที่จะมีภาษาเขียนเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย โดยเมื่อพิจารณาจากข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงแล้ว ก็พบว่ามีสำนวนไทยปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ เช่น ไพร่ฟ้าหน้าใส หมายถึง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข

 การแบ่งประเภท

  1. การแบ่งตามมูลเหตุ
    1. หมวดที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น ตื่นแต่ไก่โห่ ปลากระดี่ได้น้ำ แมวไม่อยู่หนูร่าเริง ไก่แก่แม่ปลาช่อน
    2. หมวดที่เกิดจากการกระทำ เช่น ไกลปืนเที่ยง ชักใบให้เรือเสีย ปิดทองหลังพระ
    3. หมวดที่เกิดจากเครื่องแวดล้อม เช่น ตีวัวกระทบคราด ใกล้เกลือกินด่าง ฆ่าควายอย่าเสียดายพริก
    4. หมวดที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ
    5. หมวดที่เกิดจากระเบียบแบบแผนประเพณีความเชื่อ เช่น กงเกวียนกำเกวียน คู่แล้วไม่แคล้วกัน ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่
    6. หมวดที่เกิดจากความประพฤติ เช่น ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา คบคนดูหน้าซื้อผ้าดูเนื้อ ขี้เกียจสันหลังยาว
  2. มีเสียงสัมผัส
    1. 4 คำสัมผัส เช่น คอขาดบาดตาย มั่งมีศรีสุข ทำมาค้าขาย
    2. 6-7 คำสัมผัส เช่น คดในข้องอในกระดูก แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร ขิงก็ราข่าก็แรง
    3. 8 - 9 คำสัมผัส เช่น ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา
  3. ไม่มีเสียงสัมผัส
    1. 2 คำเรียงกัน เช่น กัดฟัน ของร้อน ก่อหวอด
    2. 3 คำเรียงกัน เช่น ไกลปืนเที่ยง ก้างขวางคอ ดาบสองคม
    3. 4 คำเรียงกัน เช่น ใกล้เกลือกินด่าง ผักชีโรยหน้า เข้าด้ายเข้าเข็ม
    4. 5 คำเรียงกัน เช่น ชักแม่น้ำทั้งห้า ลางเนื้อชอบลางยา ขว้างงูไม่พ้นคอ
    5. 6 - 7 คำเรียงกัน เช่น ยกภูเขาออกจากอก วันพระไม่มีหนเดียว ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

 คุณค่า

ภาษาพูดหรือภาษาเขียนของชนแต่ละชาติย่อมจะมีอยู่ด้วยกันสองอย่าง คือ พูดตรงไปตรงมาตามภาษาของตนเอง เป็นภาษาพูดที่ต่างคนต่างฟังเข้าใจกันได้ง่าย พูดเป็นชั้นเชิงมีการใช้โวหารในการพูดและการเขียน ทั้งนี้ เพื่อให้ความหมายชัดเจนหรือขยายความออกไป หรือเพื่อให้เกิดความไพเราะขึ้น เป็นภาษาที่เราเรียกว่า "เล่นลิ้น" หรือ" พูดสำบัดสำนวน" สำนวนเหล่านั้นจะแสดงความหมายอยู่ในตัวประโยคนั้นเอง